หวยบนดิน

บทความเรื่องนี้ได้เขียนขึ้นต่อเนื่องจากบทความตอนแรกเพราะหลังจากออกบทความตอนแรกไปแล้วผู้มีอำนาจ และเนติบริกร ในกระทรวงการคลัง ได้เขียนโต้แย้งว่า บทความดังกล่าว ไม่ถูกต้องหลายประการ ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องเขียน ตอนที่สองขึ้นมา เพื่อชี้แจงและให้เหตุผลเพิ่มเติมจากบทความตอนแรก ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่า ผู้โต้แย้งดังกล่าว อาจไม่เข้าใจ วัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าว รวมทั้ง ไม่ได้พิจารณา ประกอบกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบที่อาจตามมา หรืออาจเป็นเพราะทำไปแล้ว ถอยหลังไม่ได้ แต่เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น จึงขอท้าวข้อความ ถึงบทความตอนแรก เพื่อเป็นพื้นฐานประกอบการเขียนบทความตอนที่ 2

บทความตอนแรกได้เขียนสรุปไว้ว่า ตามที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ออกสลากเลข 3 ตัว 2 ตัว โดยเลข 3 ตัว ได้รับรางวัล บาทละ 500 บาท เลข 2 ตัวได้รับรางวัล บาทละ 65 บาท หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า หวยบนดินนั้น สำนักงาน สลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากหรือหวยดังกล่าวได้หรือไม่

ก่อนที่จะตอบปัญหาดังกล่าว ขอยกกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เพื่อให้เป็นพื้นฐานในการเข้าใจปัญหาดังกล่าวพอเป็นสังเขปดังนี้

พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ . ศ . 2517 มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า “ ให้จัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งขึ้นเรียกว่า “ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1. ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล

2. จัดการโรงพิมพ์อันเป็นอุปกรณ์ในการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือพิมพ์สิ่งพิมพ์อื่น ที่คณะกรรมการ ให้ความเห็นชอบ

3. กระทำการอื่นใด ที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการ ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

มาตรา 9 “ ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 ฯลฯ ”

มาตรา 22 “ เงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้จัดสรรดังนี้

1. ร้อยละหกสิบเป็นเงินรางวัล

2. ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบแปดเป็นรายได้แผ่นดิน

3.  ไม่เกินกว่าร้อยละสิบสองเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร ซึ่งรวมทั้ง ค่าใช้จ่าย ในการจำหน่าย สลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย ”

จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สลากที่สำนักงานสลากกินแบ่ง รัฐบาลจำหน่าย จะต้องเป็นสลากที่มีการจัดสรรเงิน ที่ได้จาก การจำหน่ายสลาก ตามมาตรา 22 กล่าวคือ ต้องนำรายได้ไปแบ่งเป็นเงินรางวัล ร้อยละ 60 ให้นำไปเป็นรายได้แผ่นดิน ร้อยละ 28 ที่เหลือ อีกร้อยละ 12 นำไปเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จะไปออกสลาก ที่มีการจัดสรรเงิน ที่ได้มาจาก การจำหน่ายสลากเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เรามาดูสลาก 2 ตัว 3 ตัว มีการจัดสรรเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายอย่างไร

ตัวอย่าง ในการขายสลาก 2 ตัว 3 ตัว งวดหนึ่ง สำนักงานสลากกินแบ่ง

รัฐบาลได้เงินจากการจำหน่าย 1,000 ล้านบาท แต่มีคนถูกรางวัลจ่ายตามอัตราดังกล่าวข้างต้นรวมเป็นเงิน 50 ล้านบาท คิดเป็นเงิน ร้อยละ 5 ของเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลาก หรืออีกกรณีหนึ่งมีคนถูกรางวัลจ่ายตามอัตราดังกล่าวข้างต้น เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท คิดเป็นเงินร้อยละ 150 ของเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลาก ในกรณีแรก สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จ่ายเงิน รางวัล ไม่ถึงร้อยละ 60 ของเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลาก กรณีหลังสำนักงาน สลากกินแบ่ง จ่ายเงินรางวัล เกินกว่า ร้อยละหกสิบ ของเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลาก ทั้งสองกรณีสำนักงานกินแบ่งรัฐบาลกระทำการขัด มาตรา 22(1) ไม่น่าจะกระทำได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 22 (1) โดยแจ้งชัด จึงอาจกล่าวได้ว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีอำนาจจำหน่าย สลากกินแบ่ง รัฐบาล เฉพาะสลากที่กำหนดให้มีการจ่ายเงินรางวัลร้อยละ 60 เท่านั้น หากเป็นสลากที่มีการจ่ายเงินรางวัล ไม่ถึง ร้อยละ 60 หรือเกินกว่า ร้อยละ 60 ของเงินที่ได้จาก การจำหน่ายสลากแล้ว สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่มีอำนาจ ดำเนินการได้ หากฝ่าฝืนกระทำไป ผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการ อาจต้องรับผิดต่อไป และอาจถูกผู้ถูกรางวัลเรียกร้อง ให้จ่ายเงินรางวัลเพิ่ม ให้ครบร้อยละ 60 ในกรณีมีผู้ถูกรางวัลน้อยได้

หลังจากที่ได้เขียนบทความตอนแรกดังกล่าวไปแล้ว ผู้มีอำนาจ ในกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้รักษาการ ตามพระราชบัญญัติ สลากกินแบ่งรัฐบาล พ . ศ . 2517 รวมทั้ง เนติบริกร ของฝ่ายรัฐบาล ได้ออกมาโต้แย้ง บทความ ของผู้เขียนดังกล่าว โดยมีข้อความสำคัญ สองประการ ดังนี้

ประการแรก โต้แย้งว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลใช้อำนาจในการออกหวยสองตัว สามตัว ตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 5(3) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า (3) กระทำการอื่นใดที่ เกี่ยวเนื่องหรือเป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยตีความ อย่างกว้างว่านอกจากวัตถุประสงค์ (1) และ (2) แล้ว สำนักงานสลากกินแบ่งสามารถดำเนินกิจการอะไรก็ได้ ตามวัตถุประสงค์ (3) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า น่าจะไม่ถูกต้อง เพราะวัตถุประสงค์หลัก ในการออกพระราชบัญญัติสลากกินแบ่งรัฐบาล พ . ศ . 2517 ได้บัญญัติขึ้น เพื่อให้จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลดังจะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งชื่อก็ยังใช้ชื่อว่า “ สำนักงาน สลากกินแบ่งรัฐบาล ” คำว่า “ สลากกินแบ่ง ” ก็มีความหมาย อยู่ในตัวว่า ให้แบ่งรายได้ จากการจำหน่าย สลากกินแบ่งตาม มาตรา 22 โดยแบ่งกันระหว่างผู้ถูกรางวัล และนำเป็นรายได้แผ่นดินบางส่วน และอีกส่วนหนึ่ง ให้นำไปเป็นค่าใช้จ่าย ดังนั้น จึงควรต้องตีความใน (3) ประกอบกับ (1) และ (2) ไปพร้อม ๆ กันว่า กิจการอื่นใดใน (3) นั้น ต้องเป็นกิจการ ที่เกี่ยวกับ การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลตาม (1) หรือที่เกี่ยวกับ การจัดการโรงพิมพ์ตาม (2) หากขยายความใน (3) อย่างกว้างว่าจะออกหวย สองตัว สามตัว หรือทำอะไรก็ได้แล้ว ต่อไปสำนักงาน สลากกินแบ่ง ก็อาศัยอำนาจตาม (3) ไปเปิดรับแทงพนันฟุตบอล เปิดบ่อนการพนัน หรือ แม้กระทั่งประกอบกิจการโรงแรมม่านรูด รวมตลอดทั้งเปิดกิจการโรงอาบ อบ นวดก็ได้ ถ้าจะอ้างว่า สำนักงานสลากกินแบ่งคง ไม่ไปดำเนินกิจการดังกล่าว นั่นไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ว่าหากจะเปิดกิจการดังกล่าวทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ได้ทั้งหมด ถ้าทำได้ ก็ได้ทั้งหมด และต่อไปคงจะต้องไปเปลี่ยนชื่อ “ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ” เป็น“ สำนักงาน อบายมุข ของรัฐบาล ” และคงต้องเปลี่ยนชื่อ “ ผู้อำนวยการ ” ตามคำวิเคราะห์ศัพท์เป็นว่า “ ผู้อำนวยการ สำนักงาน อบายมุขของรัฐบาล ”

ประการที่สอง ที่ผู้มีอำนาจโต้แย้งมาว่า สลากสองตัว สามตัว หรือหวยบนดิน มิใช่สลากกินแบ่งรัฐบาล ตามพระราชบัญญัต ิสลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องแบ่งหรือ จัดสรรเงินตามมาตรา 22 หากแต่เป็น การออกสลาก สองตัว สามตัว ตามมาตรา 5(3) ดังกล่าว ประกอบกับ การขออนุญาต กระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติ การพนันนั้น ขอถามว่า ถ้าเช่นนั้น รายได้ที่ได้ มาจาก การจำหน่ายสลากสองตัว สามตัว จะแบ่งปัน หรือจัดสรรอย่างไร ตามกฎหมายฉบับใด โดยเฉพาะเงินที่เหลือ จากการให้รางวัลแล้ว เป็นเงินที่ต้องหักเข้า เป็นงบประมาณแผ่นดินหรือไม่ อย่างไร และจะนำไปใช้จ่ายอย่างไร ไม่ปรากฏชัด แต่เห็นได้ว่า เมื่อให้สำนักงาน สลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นผู้จำหน่ายสลาก เงินรายได้ทั้งหมด จะต้องหักเข้าเป็น งบประมาณแผ่นดินทั้งหมด ที่ผ่านมา ได้กระทำเช่นนั้นหรือไม่ หากไม่กระทำ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และการดำเนินการดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณา ของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลตามมาตรา 11 และคณะกรรมการ ได้ใช้อำนาจ และดำเนินการ ตามหน้าที่ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 หรือไม่ อย่างไร ไม่มีใครทราบ นอกจากนี้ ได้พิจารณาหรือไม่ว่า การจำหน่าย สลากสองตัว สามตัว ซึ่งเป็นการจำหน่ายแบบไม่อั้น หรือไม่จำกัดจำนวน เช่นสลากกินแบ่งรัฐบาล และหากในงวดใดล็อกเลขไม่ทัน หรือล็อกเลขไม่อยู่ เลขที่ออกไปตรงกับเลขที่มีคนซื้อ เป็นจำนวนมากมาย ต้องจ่ายเงินรางวัล เป็นจำนวน หมื่นล้านบาท มากกว่าเงินที่ได้ มาจากการจำหน่ายสลากสองตัว สามตัว สำนักงาน สลากกินแบ่ง จะเจ๊งหรือไม่ แล้วจะนำเงิน จากที่ไหน มาจ่ายเป็นเงินรางวัล หากไปนำเงิน จากงบประมาณแผ่นดิน มาจ่ายจะผิดกฎหมายหรือไม่ รวมทั้ง จะไปกู้เงินจากหน่วยงาน หรือธนาคาร มาจ่ายเป็นเงินรางวัล มีอำนาจกระทำได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และจะอ้างว่า ไปประกัน ความเสี่ยงกับบริษัทประกันภัย จะทำได้หรือไม่ อาศัยกฎหมายใด หากคิดง่ายๆ ว่า ปัญหานี้ จะไม่เกิดขึ้น เพราะสามารถ ล็อกเลขได้ทุกครั้ง ไม่มีทาง ที่จะต้องจ่าย เงินรางวัลก้อนมหาศาลดังกล่าว ก็จะมีปัญหาต่อไป ว่าการกระทำเช่นนี้ เป็นการฉ้อโกงประชาชนคนยากจนหรือไม่

นอกจากนี้ได้ศึกษาเรื่องภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 อันเป็นข้อยกเว้น ในการไม่ต้องเสีย ภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 โดยละเอียดแล้วหรือไม่ เพราะตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 42(11) ได้เขียนยกเว้นไว้ เพียงว่า เงินรางวัล สลาก กินแบ่ง รัฐบาล หรือสลากออมสินรัฐบาล และ (17) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 126 พ . ศ . 2509 ข้อ 2 ได้กำหนดไว้ว่า เงินได้จาก การจำหน่าย หรือส่วนลด จากการจำหน่าย สลากกินแบ่งของรัฐบาล ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ในเมื่อ ผู้มีอำนาจ ในกระทรวงการคลัง และท่านเนติบริกรลงความเห็นว่า สลากสองตัวสามตัว ไม่ใช่สลากกินแบ่งรัฐบาล ตามความ ในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวข้างต้นแล้ว เงินรางวัลที่ผู้ถูกสลาก สองตัว สามตัว รวมทั้ง เงินส่วนลด ที่ผู้จำหน่ายสลาก ได้มาย่อมไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายด้วย ท่านผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ดังกล่าวไว้หรือไม่ กรมสรรพากรได้ไปตามเก็บภาษีเงินได้จากผู้ถูกสลาก สองตัว สามตัว และจากผู้ได้เงินส่วนลดจากการจำหน่ายสลาก

ดังกล่าวหรือไม่เพราะเหตุใด ท่านได้ไปแก้กฎหมายให้ยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวไว้หรือไม่ หากไม่ได้แก้กฎหมาย และไม่ได้หักภาษีเงินได้ และไม่ได้ ตามไปเก็บภาษีเงินได ้ดังกล่าวไว้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ผู้มีอำนาจ กระทรวงการคลัง ฝ่ายการเมือง หรือข้าราชการประจำ ในกระทรวงการคลัง ผู้ปฏิบัต ิตามคำสั่ง หรือนโยบายของฝ่ายการเมืองต้องเป็นผู้รับผิดชอบ กรมสรรพากร ซึ่งเป็นหน่วยงาน ที่มีหน้าที่ ในการจัดเก็บภาษีอากร ได้ดำเนินการ จัดเก็บภาษีอากร ในกรณีดังกล่าว แล้วหรือไม่เพียงใด

ขณะนี้ผู้มีอำนาจฝ่ายการเมืองซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายให้จำหน่ายสลากกินรวบสองตัว สามตัว รวมทั้งข้าราชการประจำ ที่อาศัยบารมี และสนองนโยบาย ของข้าราชกา รฝ่ายการเมือง โดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ตามกฎหมาย ใครจะ เป็นผู้รับผิดชอบ ในขณะนี้ คงไม่มีใครกล้าดำเนินการ ในการกระทำผิด ของท่าน เพราะท่านทั้งหลาย ยังมีอำนาจ วาสนาอยู่ แต่ท่านทั้งหลาย ได้พึงสังวรไว้ว่า อำนาจวาสนา เป็นของไม่ยั่งยืนอาจหมดไปได้ในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ แต่การกระทำความผิด และละเลยต่อหน้าที่ ที่ท่านได้ก่อไว้ มันเป็นของยั่งยืน ซึ่งคงอยู่ต่อไป เป็นเวลานาน และอาจ มีผู้หยิบยกขึ้นมาพิจารณา ดำเนินการ ในความผิดที่ท่านได้ก่อไว้ เมื่อไหร่ก็ได้ และเมื่อนั้น ท่านจะแก้ตัวว่า ท่านบกพร่อง โดยสุจริต คงไม่ได้ เพราะคดีของท่าน ไม่ได้ขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ หากแต่ต้องไปพิจารณาที่ศาลยุติธรรม หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วแต่กรณี ซึ่งที่นั่นไม่มีคำว่า “ บกพร่องโดยสุจริต ”